ชายหาดจังหวัดตราด

จังหวัดตราดตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทยมีชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา มีพื้นที่เท่ากับ 2,819 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ยังติดทะเลฝั่งอ่าวไทยตอนบน โดยมีความยาวชายฝั่ง 178.19 กิโลเมตร มีขอบเขตของ 3 อำเภอ 14 ตำบลที่ติดชายฝั่งทะเล รวมถึงมีเกาะต่างๆจำนวน 66 เกาะ ซึ่งมีเกาะหลายแห่งในจังหวัดที่มีชื่อเสียง เช่น เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก เกาะรัง เนื่องจากมีแนวปะการังอยู่รอบๆเกาะ พร้อมทั้งหาดทรายที่ขาวสะอาดตัดกับน้ำทะเลสีฟ้าสดใส ทำให้เป็นที่ดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติได้เป็นอย่างดี

ภาพถ่ายดาวเทียม จ.ตราด (ที่มา: Google Earth)

หาดบางเบ้า เกาะกูด (ที่มา:https://beachlover.net/)

ระบบนิเวศชายฝั่งของจังหวัดตราดหลักๆประกอบไปด้วย หาดทราย 47.32 กิโลเมตร หาดโคลน 94.35 กิโลเมตร และหาดหิน 29.31 กิโลเมตร นอกนั้นเป็นหาดทรายปนโคลน หาดโคลนปนทราย และหาดหินปนทราย 1.49, 0.06, และ 0.64 กิโลเมตรตามลำดับ (ที่มา: https://www.dmcr.go.th/detailLib/7145 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง,2566)

หาดคลองพร้าว เกาะช้าง (ที่มา:https://travel.trueid.net/detail/n399Q7w058E3)

เกาะรัง (ที่มา:https://th.trip.com/)

หาดมุกแก้ว (ที่มา:https://cbtthailand.dasta.or.th/)

แต่ใช่ว่าทุกหาดจะมีความอุดมสมบูรณ์ จากรายงานข้อมูลสถานภาพการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง 23 จังหวัด พ.ศ. 2563 ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่าจังหวัดตราดมีพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาเป็นระยะทาง 5.12 กิโลเมตร แบ่งเป็นความรุนแรงในการกัดเซาะเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับรุนแรง (>5 เมตร/ปี) ระยะทาง 0.00 กิโลเมตร ระดับปานกลาง (1-5 เมตร/ปี) ระยะทาง 4.47 กิโลเมตร และ ระดับน้อย (<1 เมตร/ปี) ระยะทาง 0.65 กิโลเมตร และมีระยะชายฝั่งที่มีการดำเนินการแก้ไขแล้ว เป็นระยะทางทั้งหมด 29.88 กิโลเมตร

ถึงแม้ว่าหน่วยงานรัฐจะมีมาตรการที่ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาการกัดเซาะชายฝั่ง แต่จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ในบางพื้นที่ที่ได้มีแก้ไขปัญหาแล้วนั้น โครงสร้างป้องกันชายฝั่งมีความเสียหายแต่หน่วยงานรัฐไม่เข้ามาปรับปรุงดูแลรักษา เช่น บริเวณหาดไม้รูดไปจนถึงหาดบานชื่น โครงสร้างทางวิศวกรรมที่หน่วยงานรัฐใช้มีการทรุดตัวของโครงสร้าง (อ่านต่อได้ที่ พาสำรวจแนวชายฝั่งสุดแดนตะวันออก) ซึ่งนี่อาจเป็นสาเหตุให้โครงสร้างป้องกันชายฝั่งมีประสิทธิภาพที่ด้อยลง หรืออาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่นักท่องเที่ยวก็เป็นได้ หรือในบางกรณีที่บางพื้นที่พ้นจากช่วงบมรสุม ไม่มีการกัดเซาะแล้วก็ควรนำโครงสร้างบางอย่างออกไป เพื่อไม่ให้หาดได้รับความเสียหายจากโครงสร้างนั้น เช่น หาดคลองเจ้า เกาะกูด (อ่านต่อได้ที่ พาชมการกัดเซาะ หาดคลองเจ้า)หากหน่วยงานรัฐคิดแต่จะสร้างแต่ไร้การดูแลรักษา ก็ไม่ต่างอะไรกับเอาก้อนเงินไปทิ้งลงทะเล

หาดบานชื่น ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ (ทีม่า:https://beachlover.net/)

หาดคลองเจ้า เกาะกูด (ที่มา:https://beachlover.net/)

ซึ่งจากข้อมูลการใช้งบประมาณการป้องกันและบรรเทาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็น กรมโยธาธิการฯ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือองค์การบริการส่วนจังหวัด ตั้งแต่ปี 2558-2566 คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 171.73 ล้านบาท

งบประมาณป้องกันชายฝั่ง จ.ตราด

ที่มาข้อมูล: ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (https://govspending.data.go.th/)

นอกจากนี้ยังมีการใช้งบประมาณเพื่อการขุดลอกปากร่องน้ำที่ออกสู่ทะเลตั้งแต่ปี 2558-2566 เป็นเงิน 22.75 ล้านบาท โดยมีการขุดลอกเพียง 1 ครั้งในปี 2564 ที่ปากร่องน้ำท่าเทียบเรือเอนกประสงค์คลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่

งบประมาณขุดลอกร่องน้ำชายฝั่งทะเล จ.ตราด

ที่มาข้อมูล: ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (https://govspending.data.go.th/)

ปากร่องน้ำท่าเทียบเรือเอนกประสงค์คลองใหญ่ (ที่มา: Google Earth)