ชายหาดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถูกขนานนามว่า เมืองสามอ่าว ด้วยลักษณะขอบเขตจังหวัดเป็นแนวยาวเลียบกับทะเลฝั่งอ่าวไทย ทำให้อำเภอเมืองมีอ่าว 3 คือ อ่าวมะนาว อ่าวประจวบ และอ่าวน้อย ด้วยขอบเขตจังหวัดค่อนข้างแคบและเป็นแนวยาวเลียบไปกับทะเลฝั่งอ่าวไทย หากใครผ่านจังหวัดนี้หลับไปสามตื่นก็ยังไม่พ้นขอบเขตจังหวัด โดยประจวบฯมีพื้นที่ทั้งหมด 2,095.62 ตารางกิโลเมตร มีความยาวชายฝั่งมากถึง 246.83 กิโลเมตร ครอบคลุม 8 อำเภอ 25 ตำบล มีเกาะขนาดเล็กรวมกันทั้งสิ้น 23 เกาะ เกือบทุกเกาะมีขนาดเล็กกว่า 1 ตารางกิโลเมตร ยกเว้นเกาะทะลุมีพื้นที่ 1.178 ตารางกิโลเมตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของที่นี่

ภาพถ่ายดาวเทียม จ.ประจวบคีรีขันธ์ (ที่มา: Google Earth)

ระบบนิเวศชายฝั่งหลักคือหาดทราย 176.33 กิโลเมตร และหาดหิน 57.02 กิโลเมตร ส่วนที่เหลือเป็น หาดทรายปนโคลน 8.86 กิโลเมตร หาดโคลน 1.84 กิโลเมตร และปากร่องน้ำ 2.78 กิโลเมตร โดยประจวบฯมีปากร่องน้ำทั้งหมด 29 ปากร่องน้ำ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญ ได้แก่ แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล โลมาหลังโหนก โลมาปากขวด โลมาหัวบาตรหลังเรียบ วาฬบรูด้า ฉลามวาฬ เต่ากระ ป่าชายเลน และป่าชายหาด สถานที่ท่องเที่ยวมีมากมายให้ได้เลือก เช่น หาดหัวหิน หาดเขาเต่า หาดเขาตะเกียบ สวนสนประดิพัทธ์ หาดทับสะแก หาดวนกร เกาะจาน เกาะท้ายทรีย์ หาดเขากะโหลก หาดปากน้ำปราณ เป็นต้น

หาดหัวหิน (ที่มา: https://thailandtourismdirectory.go.th/attraction/1439)

หาดเขาเต่า (ที่มา: https://travel.trueid.net/detail/pL672AqzKOz0)

หาดเขาตะเกียบ (ที่มา: https://baanpuck.com/)

หาดสนประดิพัทธ์ (ที่มา: https://www.travelthaiblog.com/2)

อ่าวบ่อทองหลาง (ที่มา: https://beachlover.net/)

ถึงแม้ชายหาดที่กล่าวมานั้นจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่ความสวยงามก็ไม่ได้คงอยู่เหมือนวันวาน เนื่องจากทุกช่วงฤดูมรสุมคลื่นทะเลจะซัดเข้าชายฝั่งแล้วนำตะกอนทรายออกไปด้วย ทำให้ในบางพื้นที่ชายหาดเกิดการกัดเซาะ จากรายงานสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งปีพ.ศ.2563 พบว่า ชายหาดที่ถูกกัดเซาะและได้มีโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาไปแล้ว 68.24 กิโลเมตร มีพื้นที่ที่ไม่พบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง 174.60 กิโลเมตร และพบการกัดเซาะชายฝั่งแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาเป็นระยะทาง  3.99 กิโลเมตร โดยการแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่หน่วยงานรัฐได้ใช้มาตรการทางโครงสร้างวิศวกรรมเป็นหลัก เช่น กำแพงกันคลื่นแบบตั้งตรง กำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได เขื่อนหินทิ้ง เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง เป็นต้น

กำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได หาดปากน้ำปราณ (ที่มา: https://beachlover.net/)

เขื่อนหินทิ้งและกำแพงกันคลื่นแบบตั้งตรง หาดปราณบุรี (ที่มา: Facebook กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)

เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง หาดคลองวาฬ (ที่มา: https://beachlover.net/)

แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้ผลกับทุกที่ เช่น กรณีหาดปากน้ำปราณ ที่คลื่นทะเลกัดเซาะกำแพงกันคลื่นพังเสียหาย (อ่านต่อได้ที่ คลื่นซัด!! หาดปากน้ำปราณแนวเขื่อนพังราบ) ส่งผลให้ชายหาดมีการกัดเซาะเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีบางพื้นที่ที่มีการใช้มาตรการที่หลากหลายซ้ำในพื้นที่เดียวกัน เช่น กรณีหาดคลองวาฬมีโครงสร้างป้องกันชายฝั่งซ้ำซ้อนกัน เช่น กำแพงกันคลื่นแบบหินทิ้ง เขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง เป็นต้น ทำให้ประสิทธิภาพของการป้องกันชายฝั่งลดลง ชาวประมงจอดเรือไม่ได้ ประชาชนเข้าถึงหน้าหาดลำบาก เนื่องจากมีเศษซากวัสดุจากการก่อสร้างกำแพงป้องกันชายฝั่งกัดขวางทางลง ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณนั้น (อ่านต่อได้ที่ คดีคลองวาฬ จ.ประจวบคีรีขันธ์) จะเห็นว่างบประมาณต่างๆที่ลงโครงการไปไม่เกิดประโยชน์แต่ก่อให้เกิดโทษ นอกจากนี้ยังทำให้ชายหาดเกิดความเสียหายมากกว่าเดิม

กำแพงกันคลื่น หาดปากน้ำปราณ (ที่มา: https://beachlover.net/)

กำแพงกันคลื่น หาดปากน้ำปราณ (ที่มา: https://beachlover.net/)

โครงการที่เกิดขึ้นบริเวณหาดคลองวาฬ (ที่มา: https://beachlover.net/)

เศษซากวัสดุก่อสร้างป้องกันชายฝั่ง คลองวาฬ (ที่มา: https://beachlover.net/)

จากการรวบรวมข้อมูลงบประมาณที่หน่วยงานรัฐใช้ในโครงการป้องกันชายฝั่งตั้งแต่ปี 2558-2566 เป็นเงินทั้งสิ้น 627.87 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณสูงสุดในปีพ.ศ.2565 เป็นเงิน 269.41 ล้านบาท โครงสร้างที่ใช้ป้องกันชายฝั่ง คือ เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล 3 โครงการ ทุกโครงการเป็นของกรมโยธาธิการและผังเมืองทั้งสิ้น

งบประมาณป้องกันชายฝั่ง จ.ประจวบคีรีขันธ์

ที่มาข้อมูล: ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (https://govspending.data.go.th/)

นอกจากนี้ยังพบว่าหน่วยงานรัฐได้ใช้งบประมาณเพื่อการขุดลอกปากร่องน้ำตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558-2566 เป็นเงิน 27.00 ล้านบาท โดยมีการขุดลอกหนึ่งครั้งในปีพ.ศ.2560 ที่ปากร่องน้ำท่าเทียบเรือคลองวาฬ ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง
(ตำแหน่ง PKN1 ในภาพด้านล่าง)

งบประมาณขุดลอกร่องน้ำชายฝั่งทะเล จ.ประจวบคีรีขันธ์

ที่มาข้อมูล: ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (https://govspending.data.go.th/)

ปากร่องน้ำท่าเทียบเรือคลองวาฬ ต.คลองวาฬ อ.เมือง (ที่มา: Google Earth)