ชายหาดจังหวัดนครศรีธรรมราช

จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภาคใต้รองจากสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ประมาณ 9,942,502 ตารางกิโลเมตรติดกับทะเลฝั่งอ่าวไทย มีความยาวชายฝั่ง 236.86 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีหมู่เกาะทั้งหมด 9 หมู่เกาะ (ที่มา: https://www.dmcr.go.th/detailLib/7145 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง,2566)

ถึงแม้ว่านครศรีธรรมราชจะเป็นจังหวัดที่มีหมู่เกาะน้อย แต่ก็ไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวมาจังหวัดนี้น้อยลงแต่อย่างใด เพราะจังหวัดนครศรีธรรมราชยังมีหาดทรายที่สวยงามหลายแห่งที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวไว้ได้ ยกตัวอย่างเช่น หาดขนอม หาดหินงาม อ่าวท้องหยี หาดสิชล และหาดในเพลา หาดทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้น ถือว่าเป็นซิกเนเจอร์ของจังหวัดนี้เลยก็ว่าได้ นอกจากหาดที่มีชื่อเสียงแล้วยังมีหาดเล็กที่น้อยคนจะรู้จักเช่น หาดท้องโหนด ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของหาดขนอม ที่มีความสวยงามไม่แพ้กัน

หาดขนอม
หาดแขวงเภา

จังหวัดนครศรีธรรมราช มีระบบนิเวศชายหาด ประกอบไปด้วย หาดทราย 132.20 กิโลเมตร หาดทรายปนโคน 12.56 กิโลเมตร หาดโคลน 54.11 กิโลเมตร และหาดหิน 32.37 กิโลเมตร จะเห็นว่าชายหาดส่วนใหญ่ของที่นี่เป็นหาดทรายจึงไม่แปลกที่นักท่องเที่ยวหลายคนจะเลือกจังหวัดนี้ให้เป็นหนึ่งในลิสที่มีชายหาดสวยงาม

หาดท้องโหนด (ที่มา: https://beachlover.net/)

แต่ใช่ว่าชายหาดของจังหวัดนี้จะไม่มีปัญหาเลย จากการรวบรวมข้อมูลโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี 2558-2566 พบว่าหน่วยงานรัฐได้ใช้งบประมาณเพื่อป้องกันและบรรเทาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นงบประมาณรวมทั้งสิ้น 2,470.90 ล้านบาท (ไม่รวมงบประมาณที่ใช้ในการศึกษาโครงการ)

ที่มาข้อมูล: ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (https://govspending.data.go.th/)

จากการสืบค้นข้อมูลการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของนครศรีธรรมราช พบว่าโครงการมากมายจากหลายหน่วยงานรัฐ ส่วนมากเป็นการก่อสร้างโครงสร้างทางวิศวกรรม

เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งปากดวด

มีบางพื้นที่ที่ใช้มาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแบบใช้โครงสร้างอ่อน เช่นรั้วไม้ดักทราย (Sand fence) ณ ต.กลาย อ.ท่าศาลา โดยมีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรับผิดชอบ (อ่านต่อได้ที่ ติดตามประสิทธิภาพและความสมบูรณ์ของรั้วดักทราย)

หาดบ้านปากดวด ต.กลาย อ.ท่าศาลา (ที่มา:https://beachlover.net/)

แต่ในบางพื้นที่นั้นกลับกลายเป็นว่าโครงสร้างรัฐได้เพิ่มความเสียหายให้กับชายหาดเสียเอง เช่น หาดบ้านหน้าสตน อ.หัวไทร ได้มีการใช้มาตรการกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง จนเป็นสาเหตุให้พื้นที่ชายหาดที่อยู่ถัดไปได้รับผลกระทบ (อ่านต่อได้ที่ 8 เดือนผ่านไป กับ “หาดกัดเพราะรัฐสร้าง” @ หน้าสตน)

หาดบ้านหน้าสตน อ.หัวไทร (ที่มา: https://beachlover.net/)

นอกจากนี้ยังพบว่ามีงบประมาณที่ใช้เพื่อการขุดลอกปากร่องน้ำที่ออกสู่ทะเลเป็นจำนวนเงินรวม 313.95 ล้านบาท ในปี 2558-2566

ที่มาข้อมูล: ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (https://govspending.data.go.th/)