ชายหาดจังหวัดชุมพร

จังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดที่ถือได้ว่าเป็นประตูสู่ภาคใต้จังหวัดแรกฝั่งอ่าวไทยของไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 6,010 ตารางกิโลเมตร มีความยาวชายฝั่ง 222 กิโลเมตร มีขอบเขตของ 6 อำเภอ 22 ตำบลที่ติดชายฝั่งทะเล และมีเกาะต่างๆ 66 เกาะ โดยเกาะที่มาชื่องเสียงของที่นี่ เช่น เกาะไข่ เกาะมัตรา เกาะมะพร้าว เกาะทองหลาง เป็นต้น (ที่มา: https://km.dmcr.go.th/c_1/s_186/d_7443) ระบบนิเวศชายหาดส่วนใหญ่เป็นหาดทราย 144.57 กิโลเมตร ที่เหลือจะเป็นหาดทรายปนโคลน 4.94 กิโลเมตร หาดโคลน 22.06 กิโลเมตร หาดหิน 73.73 กิโลเมตร และปากร่องน้ำ 3.03 กิโลเมตร โดยจังหวัดชุมพรมีปากร่องน้ำทั้งหมด 17 ปากร่องน้ำ

ภาพถ่ายดาวเทียม จ.ชุมพร (ที่มา: Google Earth)

เกาะไข่ (ที่มา: https://www.paiduaykan.com/travel/khai-island-chumphon)

เกาะมัตรา (ที่มา: https://www.chumphon.go.th/2013/page/kohmattra)

ทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญ ได้แก่ แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล โลมาหัวบาตรหลังเรียบ โลมาปากขวด ฉลามวาฬ วาฬบรูด้า เต่ากระ ป่าชายเลน ป่าชายหาด และป่าพรุ เนื่องจากมีหาดทรายเป็นหลักทำให้จังหวัดชุมพรมีสถานที่ท่องเที่ยวด้านชายฝั่งหลากหลายที่ ไม่ว่าจะเป็น หาดทุ่งวัวแล่น ซึ่งเป็นชายหาดที่มีชื่อเสียงอันโด่งดังในด้านความสวยงาม ไม่ว่าจะเม็ดทรายสีขาวละเอียด น้ำทะเลใสสะอาด แนวปะการังหลากสี ถือได้ว่าเป็นสวรรค์ของใครหลายๆคนก็ว่าได้

หาดทุ่งวัวแล่น (ที่มา: https://thailandtourismdirectory.go.th/attraction/1815)

นอกจากนี้ยังมี หาดทรายรี อันเลื่องชื่อ เนื่องจากมีหาดทรายสีน้ำตาล น้ำทะเลสีฟ้าตัดกับความเขียวของต้นไม้และภูเขา รอบๆมีที่พักและร้านอาหาร ถือได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ครบครันไม่ว่าจะเรื่อง กิน นอน หรือพักผ่อนหย่อนใจ หาดหินที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ หาดผาแดง ด้วยลักษณะพื้นที่เป็นหน้าผาสูงสีแดง ทำให้หาดทรายบริเวณนั้นมีสีแดงตามไปด้วย ตัดกับน้ำทะเลสีฟ้าใสสะอาด ยามแสงแดดตกกระทบหน้าผาสีแดงส้มยิ่งแสดงความเป็นเอกลักษณ์ออกมา เหมาะสำหรับชมพระอาทิตย์ตกดินอย่างยิ่ง

หาดทรายรี (ที่มา: https://travel.trueid.net/detail/XGZXYM4K8R7E)

หาดผาแดง (ที่มา: https://thai.tourismthailand.org/)

ถึงแม้ว่าชายหาดในจังหวัดชุมพรจะสวยเพียงใด แต่ธรรมชาติย่อมมีวันเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในช่วงมรสุมคลื่นทะเลได้กัดเซาะชายฝั่งเสียหาย แต่หลังจากช่วงมรสุมชายหาดก็กลับมาสวยงามดังเดิม จากข้อมูลสถานการณ์ด้านการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดชุมพรปี 2563 ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่าตลอดแนวชายฝั่ง 248.33 กิโลเมตร มีพื้นที่ชายหาดที่ถูกกัดเซาะและได้รับการป้องกันแก้ไขปัญหาแล้วเป็นระยะทาง 18.30 กิโลเมตร ส่วนที่ยังไม่ได้แก้ไขเป็นระยะทาง 0.59 กิโลเมตร ที่เหลือ 229.44 กิโลเมตรไม่พบการกัดเซาะชายฝั่ง (ที่มา:https://www.dmcr.go.th/detailLib/7145 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง,2566

ถึงแม้ว่าชายหาดจะได้รับการแก้ไขปัญหาแต่ในบางกรณีนั้นมนุษย์ได้ทำให้หาดทรายหายไปตลอดการ เช่น การสร้างโครงสร้างทางวิศวกรรมบนพื้นที่ชายหาด นอกจากจะทำให้สภาพชายฝั่งเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ก็อาจส่งผลในด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย จึงทำให้ในบางครั้งหน่วงงานรัฐและประชาชนเกิดความขัดแย้งต่อกัน เช่น กรณีหาดทรายรี อ.เมืองชุมพร กรมโยธาธิการและผังเมืองได้มีโครงการสร้างกำแพงกันคลื่นบนพื้นที่หาด ซึ่งขัดกับความต้องการของประชาชนบางกลุ่ม ทำให้เกิดการประท้วงขึ้น (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://coastalradar.gistda.or.th/)

แนวการวางโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง หาดทรายรี (ที่มา: https://www.dmcr.go.th/detailAll/54393/nws/22)

จากเหตุการณ์ข้างต้น พบว่าพื้นที่หาดทรายรีได้มีการสร้างเขื่อนกันคลื่นมาแล้วหลายครั้ง แต่ทุกครั้งที่สร้างเสร็จโครงสร้างก็กลับมาพังเสียหายดังเดิม ซึ่งมีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากในการก่อสร้างแต่ละครั้ง จากข้อมูลสถานการณ์ด้านการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดชุมพรปี 2563 ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่ามีพื้นที่ชายหาดที่ถูกกัดเซาะและได้รับการป้องกันแก้ไขปัญหาแล้วเป็นยระยะทาง 18.30 กิโลเมตร ส่วนที่ยังไม่ได้แก้ไขเป็นระยะทาง 0.59 กิโลเมตร ที่เหลือ 229.44 กิโลเมตรไม่พบการกัดเซาะชายฝั่ง (ที่มา:https://www.dmcr.go.th/detailLib/7145 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง,2566) จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า หน่วยงานรัฐได้ใช้งบประมาณเพื่อป้องกันและแก้ไข้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทั้งจังหวัดตั้งแต่ปี 2558-2566 เป็นเงินทั้งสิ้น 806.95 ล้านบาท

งบประมาณป้องกันชายฝั่ง จ.ชุมพร

ที่มาข้อมูล: ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (https://govspending.data.go.th/)