จังหวัดตรังเป็นหนึ่งในจังหวัดทางภาคใต้ที่มีอาณาเขตติดกับทะเลฝั่งอันดามัน โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 4,917.519 ตารางกิโลเมตร มีความยาวชายฝั่ง 135.14 กิโลเมตร โดยมี 4 อำเภอ 11 ตำบลที่อยู่ติดกับชายฝั่ง มีเกาะเล็ก ใหญ่รวมกัน 54 เกาะ นอกจากนี้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญ ได้แก่ แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล พะยูน ป่าชายเลน และป่าชายหาด (ที่มา: https://www.dmcr.go.th/detailLib/7145 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง,2566)

ภาพถ่ายดาวเทียม จังหวัดตรัง (ที่มา: Google Earth)
หมู่เกาะที่มีชื่อเสียงของที่นี่ คือ หมู่เกาะลิบง ด้วยความที่มีน้ำทะเลสีฟ้าใส แนวปะการังหลากสีสัน ทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในดวงใจของใครหลายๆคน นอกจากนี้ยังเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดตรังและเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จึงไม่แปลกใจหากเราจะบังเอิญเจอพะยูน ถือได้ว่าเป็นเกาะแห่งนี้เป็นแหล่งรวบรวมความสมบูรณ์ของธรรมชาติทางทะเลก็ว่าได้ นอกจากเกาะลิบงแล้ว ยังมีเกาะกระดานที่มีชื่อเสียงไม่แพ้กัน

เกาะลิบง (ที่มา: https://trang.prd.go.th/th/content/category/detail/id/301/iid/99885)

พะยูน เกาะลิบง (ที่มา: https://www.bltbangkok.com/news/12558/)

เกาะกระดาน (ที่มา: https://travel.kapook.com/view267644.html)

หาดปากเมง (ที่มา: https://beachlover.net/)

หาดวิวาห์ใต้สมุทร (ที่มา: https://beachlover.net/)
ระบบนิเวศชายหาด ประกอบไปด้วย หาดทราย 67.23 กิโลเมตร หาดโคลน 32.64 กิโลเมตร และหาดหิน 20.40 กิโลเมตร (ที่มา: https://www.dmcr.go.th/detailLib/7145 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง,2566) ด้านการกัดเซาะชายฝั่งนั้นจากรายงานข้อมูลสถานภาพการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง 23 จังหวัด พ.ศ. 2563 ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่าจังหวัดตรังมีการกัดเซาะชายฝั่ง 7.75 กิโลเมตร ไม่พับการกัดเซาะ 120.25 กิโลเมตร แต่มีชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะและได้มีโครงการป้องกันแก้ไขปัญหาเป็นระยะทาง 7.14 กิโลเมตร โดยการป้องกันชายฝั่งในแต่ละพื้นที่ก็มีมาตรการที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่เป้นโครงสร้างทางวิศวกรรม เช่น กำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได (อ่านต่อได้ที่ กำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได เกาะลิบง) การตอกเสาเข็มวางเรียงหน้ากระดาน (อ่านต่อได้ที่ หาดเก็บตะวัน…หาดสวยด้วยแท่งปูน?!) พบว่าในหลายพื้นที่โครงสร้างที่เลือกใช้นั้นไม่เหมาะสม ขาดประสิทธิภาพ และส่งผลทำให้ชายฝั่งยิ่งมีการกัดเซาะมากขึ้น

กำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได (ที่มา: https://beachlover.net/)

กำแพงกันคลื่นแบบตั้งตรง (ที่มา: https://beachlover.net/)
จากการรวบรวมข้อมูลงบประมาณที่หน่วยงานรัฐใช้ในโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ตั้งแต่ปี 2558-2566 พบว่าหน่วยงานรัฐใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 228.60 ล้านบาท

งบประมาณเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง จ.ตรัง
ที่มาข้อมูล: ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (https://govspending.data.go.th/)
นอกจากนี้ยังมีงบประมาณที่ใช้เพื่อการขุดลอกปากร่องน้ำตั้งแต่ปี 2558-2566 รวมทั้งสิ้น 236.20 ล้านบาท โดยจังหวัดตรังมีปากร่องน้ำทั้งหมด 25 ปากร่องน้ำ ซึ่งงบประมาณทั้งหมดที่ใช้เพื่อขุดลอกนั้นได้ขุดลอกที่ปากร่องน้ำกันตัง อำเภอกันตัง

งบประมาณเพื่อขุดลอกร่องน้ำชายฝั่งทะเล จ.ตรัง
ที่มาข้อมูล: ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (https://govspending.data.go.th/)

ปากร่องน้ำกันตัง (ที่มา: Google Earth)