จังหวัดสงขลามีพื้นที่ทั้งหมด 7,393.889 ตารางกิโลเมตร ความยาวชายฝั่ง 159.66 กิโลเมตร ขอบเขตของ 6 อำเภอ 28 ตำบล ที่ติดชายฝั่งทะเล โดยจังหวัดสงขลามีเกาะต่างๆจำนวน 6 เกาะ ได้แก่ เกาะหนู เกาะแมว เกาะยอ เกาะคำเหียง เกาะบรรทม และเกาะขาม ซึ่งแต่ละเกาะที่กล่าวนั้นมีพื้นที่เกาะน้อยกว่า 1 ตารางกิโลเมตร ยกเว้นเกาะยอ ที่มีขนาดใหญ่สุด 5.918 ตารางกิโลเมตร (ที่มา: https://km.dmcr.go.th/c_1/s_186/d_7537)

ภาพถ่ายดาวเทียม จ.สงขลา (ที่มา: Google Earth)
ระบบนิเวศชายฝั่งส่วยใหญ่เป็นหาดทราย 157.04 กิโลเมตร ที่เหลือเป็นหาดหินเพียง 0.73 กิโลเมตร และปากร่องน้ำ 1.89 กิโลเมตร โดยสงขลามีปากร่องน้ำทั้งหมด 6 ปากร่องน้ำ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญ ได้แก่ แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล โลมาหลังโหนก โลมาอิรวดี โลมาปากขวด โลมาหัวบาตรหลังเรียบ โลมาริซโซ่ เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า ป่าชายเลน ป่าชายหาด และป่าพรุ
ชายหาดจังหวัดสงขลามีชื่อเสียงหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น หาดสมิหลา ที่ถือว่าเป็นแลนด์มาร์คที่หนึ่งของเมืองสงขลาเลยก็ว่าได้ หาดทรายสีขาวเม็ดละเอียด มีต้นสนให้ความร่มรื่นแถมอากาศปลอดโปร่ง นอกจากนี้ยังมีตำนานเรื่องเล่าของรูปปั้นนางเงือกประจำหาดสมิหลาที่เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว เมื่อพูดถึงหาดสมิหลาแล้วจะขาดสถานที่นี้ไปไม่ได้นั่นคือ เกาะหนูและเกาะแมว ซึ่งเป็นเกาะขนาดเล็กที่อยู่ใกล้กับหาดสมิหลา โดยทั้งสองเกาะเมื่อมองจากฝั่งเกาะที่อยู่ใกล้จะเห็นมีลักษณะเหมือนหนู ส่วนเกาะที่ไกลออกไปจะมีลักษณะคล้ายแมว ซึ่งสองเกาะเหมาะสำหรับการตกปลาอย่างยิ่ง ต่อเนื่องกันมาจากหาดสมิหลาจะเป็นหาดชลาทัศน์ เป็นสถานที่ที่เงียบสงบผู้คนส่วนใหญ่จะมานั่งพักผ่อนในช่วงเย็น นอกจากนี้ยังมีอีก หาดเก้าเส้ง หาดสะกอม และอื่นๆ

หาดสมิหลา (ที่มา: https://www.wongnai.com/)

เกาะหนู-เกาะแมว (ที่มา: https://www.facebook.com/photo/)

หาดชลาทัศน์ (ที่มา: https://www.traveloka.com/)

หาดเก้าเส้ง (ที่มา: https://www.wongnai.com/)

หาดสะกอม (ที่มา: https://thai.tourismthailand.org/)
ถึงแม้ว่าชายหาดที่ยกตัวอย่างมาให้ชมนั้นจะสวยงามมากเพียงใด แต่ในความเป็นจริงแล้วบางหาดความสวยงามได้เป็นเพียงอดีต เนื่องจากทุกวันนี้พื้นที่หน้าหาดส่วนใหญ่ได้กลายมาเป็นโครงสร้างทางวิศวกรรมแทน ยกตัวอย่างเช่น หาดปากแตระที่เคยมีพื้นที่ชายหาดให้ผู้คนในชุมชนได้มาเล่นน้ำพักผ่อนหย่อนใจ แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปเป็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง พร้อมถนนที่ตัดเลียบชายฝั่ง ส่งผลให้หาดทรายบริเวณด้านหน้าโครงสร้างหายไปไม่สามารถลงเล่นน้ำได้ (อ่านต่อได้ที่ ถนนเส้นใหม่เลียบหาดปากแตระ ระโนด)

กำแพงกันคลื่น หาดปากแตระ (ที่มา: https://beachlover.net/)

ถนนเลียบชายฝั่ง หาดปากแตระ (ที่มา: https://beachlover.net/)
กรณีของหาดมหาราชที่โครงสร้างของหน่วยงานรัฐได้กลายมาเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับภาครัฐสู่การฟ้องร้องคดีต่อศาล เนื่องจากพื้นที่ชายหาดดังกล่าวไม่ได้มีการกัดเซาะชายฝั่ง แต่หน่วยงานรัฐได้มีการสร้างกำแพงกันคลื่น ซึ่งไม่มีความจำเป็นต่อพื้นที่แห่งนี้แถมยังทำให้เกิดการกัดเซาะบริเวณสิ้นสุดโครงสร้างอีกด้วย โดยใช้งบประมาณ 167 ล้านบาท สร้างความไม่พอใจต่อประชาชนอย่างยิ่งจึงได้มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น (อ่านต่อได้ที่ ข้อสังเกตต่อโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดมหาราช จ.สงขลา)

กำแพงกันคลื่นหาดมหาราช (ที่มา: https://beachlover.net/)

กำแพงกันคลื่นหาดมหาราช (ที่มา: https://beachlover.net/)
กรณีหาดชลาทัศน์ที่รัฐได้มีการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยการเติมทรายชายหาด แต่เนื่องจากไม่มีการคัดเลือกขนาดเม็ดทรายให้เท่ากับขนาดของหาดเดิม ส่งผลให้ทรายชายหาดแยกชั้นกันเมื่อถูกคลื่นซัดทรายตัดเป็นหน้าผาสูง ซึ่งเป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยวและทัศนียภาพได้รับความเสีย (อ่านต่อได้ที่ หาดชลาทัศน์ ยามนี้ … ยังสบายดีอยู่ไหม)

การแยกชั้นทรายหาดชลาทัศน์หลังการเติมทราย (ที่มา: https://beachlover.net/)

ทัศนียภาพหาดชลาทัศน์ (ที่มา: https://beachlover.net/)
จากการรวบรวมข้อมูลงบประมาณที่หน่วยงานรัฐใช้ในโครงการป้องกันชายฝั่ง ตั้งแต่ปี 2558-2566 เป็นเงินทั้งสิ้น 2,644.99 ล้านบาท ซึ่งเป็นจังหวัดที่ใช้งบประมาณมากที่สุดจาก 23 จังหวัดที่ติดทะเล โดยตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 ไปจนถึงปีพ.ศ.2563 งบประมาณสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากหน่วยงานรัฐได้ใช้กำแพงกันคลื่นเป็นมาตรการหลักในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง

งบประมาณป้องกันชายฝั่ง จ.สงขลา
ที่มาข้อมูล: ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (https://govspending.data.go.th/)
นอกจากนี้ยังพบว่าหน่วยงานรัฐได้ใช้งบประมาณเพื่อการขุดลอกปากร่องน้ำตั้งแต่ปีพ.ศ.2558-2566 เป็นเงิน 1,193.51 ล้านบาท

งบประมาณขุดลอกร่องน้ำชายฝั่งทะเล จ.สงขลา
ที่มาข้อมูล: ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (https://govspending.data.go.th/)